ควรให้ลูกเริ่มหัดอ่านภาษาอังกฤษเมื่อไหร่ดี?

วันนี้เราจะพูดถึงเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงให้ลูกเริ่มเรียนอ่านช้ากว่าคนอื่น อันนี้พูดเฉพาะภาษาอังกฤษนะ จริงๆมันเป็นหลักง่ายๆที่ใช้กับทุกภาษา คือเราต้องเริ่มจากการฟังก่อน ฟังมากก็พูดได้มาก พูดมากก็อ่านได้มาก อ่านมากก็เขียนได้มากนั่นเอง การที่เด็กคนนึงจะเรียนรู้อ่านอ่านได้ดีจะต้องมีสิ่งที่สำคัญมากๆนั่นก็คือ Deep background และ Vocabulary knowledge คือมีความชำนาญในการใช้ภาษานั้นๆมาก่อนระดับหนึ่ง (ฟัง-พูด) และมีคลังคำศัพท์ที่ตัวเองเคยใช้งานในปริมาณที่พอสมควร เมื่อถึงเวลาที่จะต้องหัดอ่านเด็กๆจะรู้ทันทีว่าตัวเองกำลังอ่านอะไรอยู่ เด็กๆรู้จักและเข้าใจคำศัพท์ที่ตัวเองกำลังอ่านดีอยู่แล้ว สนิทสนมคุ้นเคยกับรูปประโยคเป็นอย่างดี ดังนั้น ณ วันที่หัดอ่าน เด็กๆเพียงแค่การฝึกถอดรหัสเสียงเพื่อเชื่อมโยงไปยังคำศัพท์ที่อยู่ในคลังสมองของตัวเอง เพียงแท่านี้การอ่านก็จะเป็นเรื่องง่าย






อย่างที่เราเคยบอกแล้วว่า เด็กที่มีคลังคำศัพท์น้อย เวลามาเรียนอ่านเขียนจะใช้เวลานานกว่าเด็กที่รู้คำศัพท์อยู่แล้ว แม้จะถอดรหัสเสียงได้แต่ก็ไม่รู้ความหมายของคำอยู่ดี เวลาอ่านเนื้อหาที่ยาวๆจะตีความไม่ได้เพราะแปลไม่ออกเยอะ คืออ่านถูกแต่แปลไม่ได้และเดาคำศัพท์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนได้ยาก บางคำก็ไม่กล้าอ่านเพราะไม่แน่ใจว่าจะอ่านถูกมั้ย ในขณะที่เด็กที่มีคลังคำศัพท์เยอะเค้าจะเดาออกได้เลย


ยกตัวอย่างประโยค My mom makes sure we all have breakfast and dinner together. เด็กที่เพิ่งเรียนจบ short vowels, long vowels และ blends มาอ่านประโยคนี้อาจจะติดที่คำว่า breakfast และ together เนื่องจากเดาไม่ถูกเพราะไม่คุ้นเคยกับการใช้งาน คืออาจจะเคยได้ยินแต่ไม่เคยนำไปใช้จึงเกิดความไม่แน่ใจว่าจะอ่านอย่างไร แต่เด็กที่พูดภาษาอังกฤษได้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะเดาออกเลยแม้ว่าตัวเองจะถอดรหัสเสียงได้เพียงแค่พยางค์แรกก็ตาม แต่ก็สามารถเดาพยางค์ที่เหลือได้ทั้งหมดจากทักษะการพูด การนำไปใช้ที่ได้ฝึกฝนมาแล้วก่อนหน้านี้ ยิ่งถ้าไม่ได้ฝึกอ่าน sight words มาด้วยจะยิ่งไปกันใหญ่ ฉะนั้นหัดอ่าน Phonics แล้วต้องหัดอ่าน sight words ด้วยเด้อ มันจะต้องไปด้วยกัน


ลองอีกตัวอย่างนึง After lunch she started the laundry while Sarah and Tammy watched a morning children's program. ประโยคนี้เด็กๆจะสตั๊นที่คำว่า laundry มากที่สุด ส่วนคำอื่นก็รองลงมา แต่เด็กที่พูดภาษาอังกฤษได้อยู่แล้วจะพยายามแกะ และหลายคนก็แกะได้สำเร็จด้วยค่ะ


และการอ่าน Phonics ที่ประสบความสำเร็จคือการที่เด็กสามารถถอดรหัสเสียงอ่านออกมาเป็นคำที่ถูกต้องได้แม้ว่าคำนั้นจะไม่เคยเห็นมาก่อนและเป็นคำที่ไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้ เชื่อมั้ยว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่ทำได้นะ เราทดสอบมาเยอะแล้วพบว่าไม่ต้องไปไกลถึงคำที่ไม่มีจริงบนโลกหรอก เอาแค่คำที่มีอยู่จริงแต่เด็กไม่เคยเห็นมาก่อนก็อ่านออกเสียงไม่ถูกหรือไม่กล้าอ่านออกมาแล้ว อันนี้ประสบการณ์ตรงเลย


มาถึงตรงนี้หลายคนคงจะเกิดคำถามว่า แล้วเราจะเริ่มสอนให้ลูกหัดอ่านเมื่อไหร่ดี คำถามนี้ตอบยากเพราะถ้าจะตอบแบบตรงไหตรงมาจริงๆก็คือเมื่อลูกพูดภาษาอังกฤษคล่องในระดับหนึ่ง มีคลังคำศัพท์หลายพันคำในหัวและเคยผ่านการใช้งานคำเหล่านั้นมาก่อน นั่นแหละคือพร้อมที่สุด ไม่มีตัวเลขอายุที่แน่นอนตายตัว แต่โลกแห่งความเป็นจริงมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะเด็กๆต้องไปโรงเรียน ครูที่โรงเรียนเริ่มสอนตอนไหนก็ต้องไปตามนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้ก็คงทำได้เพียงช่วยส่งเสริมและประคับประคองให้ลูกสามารถอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเราสามารถควบคุมได้ เช่น บ้านไหนที่ทำโฮมสคูล หรือบ้านไหนที่พูดภาษาอังกฤษกับลูกจนลูกพูดได้คล่องตั้งแต่ 3-4 ขวบ หรือบ้านไหนที่ส่งลูกให้เรียนในโรงเรียนที่เริ่มการอ่านเขียนช้าหน่อย อันนี้รับรองว่าไปได้ตามแนวทางที่เราเขียนไว้ด้านบนเลยค่ะ


หลังจากอ่านได้แล้วก็ค่อยมาเริ่มเขียน เมื่ออ่านได้อย่างคล่องแคล่วก็จะเขียนได้อย่างคล่องแคล่วและมั่นใจเช่นกัน การอ่านมากๆจะนำไปสู่การเขียนที่ดีดังคำกล่าวที่ว่า To write great books you're going to have to read great books. เรายังคงยึดแนวทางเดิมเสมอมา คือฝึกอ่านจากนิทานหรือวรรณกรรมเท่านั้น เราไม่ได้ให้อ่านจาก worksheet ยกเว้นว่ามันมีมากับตำราที่ต้องเรียน เพราะการอ่านหนังสือจากหน้ากระดาษขาวๆที่มีแต่ตัวหนังสือมันไม่สนุก และการฝึกอ่านจากนิทานหรือวรรณกรรมมันจะช่วยให้เด็กจดจำคำศัพท์และรูปประโยคเพื่อใช้งานได้ดีกว่า ย้ำว่า เพื่อใช้งาน เพราะ worksheet หัดอ่านนั้นมักถูกออกแบบมาเพื่อให้อ่านได้ แต่นิทานหัดอ่านถูกออกแบบมาเพื่อให้อ่านได้และนำไปใช้งานได้ ประกอบกับเด็กจะจำประโยคหรือคำศัพท์ได้ในแบบที่จำเหตุการณ์ในหนังสือ มีภาพให้นึกถึงในหัว มีความทรงจำกับตัวอักษรและเรื่องราว ซึ่งความจำแบบนี้จะเข้าสู่ Long Term Memory ได้ง่ายกว่ามาก


หวัว่าพอจะเป็นแนวทางได้บ้างนะคะ เรื่องการเรียน Writing เราจะเขียนในบทความถัดไปค่ะ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น