เราจะสอนให้ลูกออมเงินอย่างไรดี?

การสอนให้เด็กๆรู้จักคุณค่าของเงิน เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ควรมี สองสิ่งหลักที่เราควรสอนคือ หนึ่ง การใช้เงินอย่างรู้คุณค่า เงินใช้ได้ แต่ต้องรู้จักใช้  และสอง คือการรู้จักเก็บออมเงินไว้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดีค่ะ ทำให้ลูกคุ้นเคยและเป็นส่วนนึ่งของชีวิตประจำวัน ทำอย่างไรบ้าง เรามาเริ่มกันเลย




1. เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการเงิน เด็กๆเรียนรู้โดยการสังเกตพฤติกรรมของพ่อแม่ เราอยากให้ลูกใช้เงินแบบไหนเราต้องทำให้ลูกเห็น ไม่ใช่ว่าสอนลูกอย่าง แต่แม่ทำอีกอย่าง ลูกก็จะไม่รู้สึกว่าคำสอนนั้นถูกต้องหรือเป็นสิ่งที่ควรทำ หากเรามีรายได้ครอบครัวที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต เราอาจไม่จำเป็นต้องประหยัดมากเกินไป แต่เราจะสอนให้ลูกเข้าใจถึงคุณค่าของเงิน วิธีการได้มาและการรักษามันเอาไว้ เราควรสอนลูกให้เลือกซื้อสิ่งของที่จำเป็น ทนทาน มีอายุการใช้งานที่เหมาะสม พูดง่ายๆคือสอนให้ลูกประเมินความคุ้มค่าก่อนตัดสินใจซื้อ และเมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้วก็สอนลูกให้ดูจักดูแล ทะนุถนอม หรือบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ใช้งานได้นาน

แต่ถ้าหากเรามีรายได้ครอบครัวที่น้อย การสอนลูกให้รู้จักประยัด อดออม ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่เราไม่ได้หมายความว่าคนที่มีฐานะดีจะไม่ต้องประหยัดอดออมนะคะ เราสามารถทำได้เช่นกันเพียงแต่ปกติแล้วคนที่ครอบครัวฐานะดีอาจมีทางเลือกมากกว่าโดยเฉพาะเรื่องของการต่อยอดเงิน เราสอนให้ลูกประเมินความคุ้มค่าก่อนตัดสินใจซื้อเช่นกัน เพียงแต่กำลังซื้อลดลงมา รวมถึงสอนให้ลูกแยกให้ออกระหว่างสิ่งที่อยากได้กับสิ่งที่จำเป็น หากเรามีรายได้ไม่มากเราก็ต้องสิ่งซื้อสิ่งที่จำเป็นก่อน ส่วนเรื่องการสอนลูกหารายได้เพิ่มเราจะไม่ได้พูดถึงนะคะเพราะเรากำลังพูดถึงเรื่องการสอนเรื่องการเงินของเด็กค่ะ เด็กยังไม่ใช่วัยทำงาน


2. ช่วยลูกสร้างแผนการออมเงิน เด็กๆมักจะใช้กระปุกออมสินเป็นสิ่งเก็บเงินค่ะ เพราะเข้าใจง่าย น่ารัก และมองเห็นเป็นรูปธรรม เด็กๆสามารถเฝ้ามองดูการเติบโตของเงินในกระปุกได้ และเกิดความภาคภูมิใจในความก้าวหน้าและการบรรลุเป้าหมายของตนเอง เราอาจเริ่มจากการให้เด็กๆลองเก็บเงินซื้อของที่ตัวเองอยากได้โดยหักออกจากค่าขนมทีละน้อย ไม่จำเป็นต้องแบ่งเงินมาหยอดทุกวันแต่ขอให้สม่ำเสมอ เป็นการฝึกวินัยไปในตัวด้วยค่ะ การที่เงินค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆเป็นการฝึกให้เด็กๆรู้จักการอดทนรอคอย ลดอาการหุนหันพลันแล่น และเรียนรู้ที่จะใช้จ่ายอย่างรอบคอบมากขึ้น และรางวัลของการรอคอยก็จะปรากฏเมื่อเด็กๆออมเงินได้จนถึงเป้าหมายนั่นเองค่ะ


3. สร้างเป้าหมายในการออมเงิน นอกจากการค่อยๆเก็บเงินซื้อของที่อยากได้แล้ว แต่ปัญหาคือไม่รู้ว่าจะเก็บได้ครบวันไหน เราลองชวนเด็กตั้งเป้าหมายระยะเวลาในการออมเงินดูค่ะ ลองให้เขาคำนวณว่าต้องการเงินเท่าไหร่ และจะใช้เวลาเท่าไหร่ไหร่ในการออม หากระยะเวลานานเกินไปจะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น หรือบางบ้านอาจจะให้เด็กๆลองจดบันทึกความคืบหน้าของพวกเขา และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยให้กำลังใจเด็กๆไม่ห่าง เพียงเท่านี้ เด็กๆก็จะบรรลุเป้าหมายในการออมเงินอย่างแน่นอนค่ะ


4. การให้เงินตอบแทน เราอาจมอบเงินเป็นรางวัลให้เด็กๆมีมีความสำเร็จบางอย่างเกิดขึ้น แต่การได้มาซึ่งเงินรางวัลต้องไม่กดดันจนเกินไป และไม่แนะให้เงินจำนวนที่สูงเกินไป เช่น เราอาจให้รางวัลลูกด้วยเงินเพียงเล็กน้อยจากการช่วยงานบ้านหรืองานที่ร้านมาตลอดทั้งสัปดาห์หรือทั้งเดือน (ไม่ได้ให้ทุกงานที่ทำ) ส่วนรางวัลจากการทำความดี แนะนำให้เป็นดาวกระดาษใส่ขวดโหลแทนการให้เงิน เพราะความดีเป็นสิ่งที่ต้องทำไม่ว่าเราจะได้หรือไม่ได้อะไรตอบแทนก็ตาม ถ้าเด็กๆเก็บสะสมดาวได้มากเขาก็จะมีความภาคภูมิในใจตนเองมาก และอยากทำความดีไปเรื่อยๆด้วยความรู้สึกว่าทำความดีแล้วมีความสุข


5. ให้เด็กๆมีส่วนร่วมในการเงินของครอบครัวด้วย ถ้าเด็กๆโตพอที่จะเข้าใจเรื่องการเงินแล้ว สักประมาณชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการใช้จ่ายในครอบครัว โดยให้อิสระในการถกเถียงและโต้แย้งในประเด็นการใช้จ่ายต่างๆได้ เรียนรู้เศรฐศาสตร์ครอบครัวไปพร้อมๆกับการดำเนินชีวิตจริง หรือถ้าลูกโตกว่านั้น เราก็สามารถสอนลูกให้รู้จักการวางแผนทางการเงินระยะยาว เช่น วางแผนการเงินสำหรับหารศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรี เป็นต้น รวมไปถึงการลงทุนในรูปแบบที่พวกเขาสามารถทำได้ภายใต้การดูแลของผู้ปกครองก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้นจะสามารถบริหารจัดการชีวิตและการเงินได้อย่างลงตัวค่ะ



คราวหน้าจะเราจะมาแนะนำแผนการออมเงิน สำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี รอติดตามนะคะ บทความโดยสวัสดีชาวลูก

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น