การเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ยากที่สุดของแต่ละบ้านเลยทีเดียว แต่เราไม่ต้องเป็นกังวลมากไป เพราะการเรียนแบบโฮมสคูลนั้นยืดหยุ่นอยู่แล้ว เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา หากหลักสูตรที่เลือกมานั้นไม่เวิร์คเราก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ทุกปี หรือจะเปลี่ยนทุกเทอมก็ยังได้ วันนี้เราจะมาแนะนำเรื่องการเลือกหลักสูตรสำหรับเด็กโฮมสคูลว่ามีข้อควรพิจารณาอะไรบ้างค่ะ
1. งบประมาณของครอบครัว
อันนี้สำคัญมาก เพราะหลักสูตร Homechool โดยเฉพาะที่เป็นหลักสูตรต่างประเทศมีตัวเลือกเยอะมาก และมีราคาแตกต่างกันไปตั้งแต่ฟรีจนถึงหลายพันดอลลาร์ต่อปี เราต้องพิจารณาเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมกับงบประมาณที่เรามี อย่าลืมว่าอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากค่าหลักสูตร เช่น บางหลักสูตรอาจมีค่าหนังสือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสคร์ หรือบางที่อาจมีค่ากิจกรรมเพิ่มเติมเข้ามา เราต้องพิจารณารวมเข้าไปด้วยค่ะ
2. รูปแบบการเรียนรู้ของเด็กๆ
เด็กแต่ละคนมีสไตล์การเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน เด็กบางคนเรียนรู้จากการเฝ้าสังเกต เด็กบางคนเรียนรู้จากการฟังหรืออ่านเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เด็กบางคนเรียนรู้จากการลงมือทำ หรือเด็กบางคนก็เรียนรู้จากหลากลายวิธีในคนคนเดียวกัน เราควรทำความเข้าใจรูปแบบการเรียนรู้ของลูกเราเองเพื่อช่วยให้เราเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมและสามารถดึงศักยภาพในตัวของพวกเค้าออกมาให้ได้มากที่สุด ถ้าลูกของเราเป็นคนชอบลงมือทำ จะให้เค้านั่งดูวิดีโอสาธิตการปลูกถั่วงอกเสร็จแล้วตามด้วยแบบฝึกหัดเค้าก็คงจะไม่ชอบ เราต้องพาเค้าลงมือปลูกด้วยตัวเองจะดีกว่า หรือเด็กบางคนชอบดูรูปแต่ไม่ชอบอ่านตัวหนังสือเยอะๆลายตา แต่เราดันไปเลือกหลักสูตรที่ตำราหนาเตอะ เต็มไปด้วยตัวหนังสือและแทบไม่มีรูปภาพเลย เราก็จะไม่สามารถทำให้เด็กๆหันมาสนใจเนื้อหาการเรียนได้โดยง่าย ดังนั้นการพิจารณารูปแบบและวิธีการสอนของแต่ละหลักสูตรนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากและไม่ควรมองข้าม
3. เวลาที่มีผู้ปกครองมีให้กับลูก รวมถึงทักษะการสอนของผู้ปกครองเอง
เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เราจึงมีความต้องการหลักสูตรที่ไม่เหมือนกัน เราขอพูดถึงกรณีที่ใช้หลักสูตร Homeschool ของต่างประเทศนะคะ บางหลักสูตรต้องการการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองมาก ผู้ปกครองต้องเป็นผู้สอนหลักและทางสถาบันผู้ออกหลักสูตรจะเพียงแค่แนะนำแนวทางและเป็นที่ปรึกษาให้เท่านั้น ในขณะที่บางหลักสูตรจะมีครูเป็นผู้สอนหลักและผู้ปกครองคอยติดตามผลและคอยดูและเรื่องต่างๆเพียงเล็กน้อย หรือบางหลักสูตรโดยเฉพาะในเด็กโตอาจเน้นไปที่การให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลัก ผู้ปกครองต้องพิจารณาว่าตัวเองอยากอยู่ในบทบาทไหน และมีเวลาหรือกำลังทรัพย์เพียงพอหรือไม่ หากผู้ปกครองต้องการเป็นผู้สอนหลัก นอกจากจะต้องมีเวลาให้ลูกมากๆแล้วยังต้องมีความอดทน มีจิตวิทยา และเทคนิคในการสอนที่ดีด้วย ถ้าเรียนไปสองหน้าแล้วทะเลาะกันกับลูกตลอดเวลาก็อาจจะต้องพิจารณาเปลี่ยนบทบาทใหม่นะคะ
4. รูปแบบการเรียนการสอน
ในปัจจุบันการเรียนโฮมสคูลมีหลายรูปแบบมาก เช่น การเรียนโดยใช้หนังสือ ตำรา หรือเอกสารประกอบการเรียนต่างๆ หรือการเรียนโดยอาศัยแพลทฟอร์มออนไลน์แบบ 100% หรือจะผสมกันทั้งหนังสือ+ออนไลน์อย่างละครึ่งก็ได้ การเรียนออนไลน์ก็จะแบ่งออกเป็นรูปแบบย่อยๆได้อีก เช่น เรียนแบบดูคลิปวีดีโอที่ทำไว้แล้วจากนั้นทำแบบฝึกหัดทบทวน หรือเรียนออนไลน์โต้ตอบกับครูและเพื่อนร่วมชั้นแบบ real time ก็มี ดังนั้นเราต้องพิจารณาเลือกรูปแบบการเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของครอบครัว
5. การรับรองหลักสูตร
สำหรับการทพโฮมสคูลในประเทศไทย ถ้าเราจดทะเบียนอย่างถูกต้องเด็กๆก็จะได้รับการรับรองการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องใช้หลักสูตรที่มีการรับรองเพิ่มเติมจากสถาบันอื่นอีก แต่หากเราต้องการก็ถือว่าเป็นออพชั่นที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว หลายๆครอบครัวเลือกที่จะใช้หลักสูตรต่างประเทศที่มีการรับรอง (Accredited) ที่มีการรับรองวุฒิการศึกษาให้จากสถาบันที่น่าเชื่อถือในต่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น อาจจะเพื่อการศึกษาต่อในอนาคต หรือเตรียมตัวไปอยู่ต่างประเทศ เป็นต้น แต่หลักสูตรที่ได้รับการรับรองก็จะมีราคาที่สูงตามมา ทั้งนี้ก็พิจารณาตามงบประมาณของครอบครัวค่ะ
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะเลือกอย่างไรก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะบางครั้งเป้าหมายของเราเปลี่ยนไปตามกาลเวลา หรือความฝันของเด็กๆอาจเปลี่ยนไปเมื่อพวกเค้าโตขึ้น ข้อดีของการทำโฮมสคูลคือความยืดหยุ่น เราสามารถทบทวนการตัดสินใจใหม่ได้ทุกปีเพื่อให้ลูกๆของเราได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและเหมาะสม
พบกันใหม่ตอนหน้านะคะ
0 ความคิดเห็น